ผลการเลือกตั้งปี 66 ประชาชนใช้สิทธิมากสุด เป็นประวัติการณ์

นางสาวศิริลักษณ์ รัตนวโรภาส ผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงถึงภาพรวมการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,238,594 คน คิดเป็นร้อยละ 75.22 นับเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกลได้คว้าชัยชนะลำดับที่ 1 รองลองมาเป็นพรรคเพื่อไทยตามลำดับ
จากสถานการณ์ภาพรวมในมุมมองของ กกต.กล่าวว่าเป็นไปโดยเรียบร้อย แม้จะมีบางจังหวัดที่เผชิญปัญหาสภาพอากาศ อย่าง จังหวัดนครปฐม หน่วย 10 หมู่ 8 ต.บางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม ที่ต้องงดการลงคะแนนจากพายุฝนทำให้เต๊นท์ล้มเสียหายไม่สามารถจัดการเลือกตั้งต่อได้ จึงทำให้คะแนนเลือกตั้งอยู่ที่ร้อยละ 99
นอกจากนั้นพบว่ามีการฉีกบัตรเลือกตั้ง 24 ราย จำหน่ายสุรา 7 ราย ถ่ายรูปบัตรให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนน 4 ราย มีคำร้องทั้งหมด 168 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องซื้อเสียง 59 เรื่อง หลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ 18 เรื่อง และเรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองหลาย ๆ มาตรา
สรุปผลคะแนนการเลือกตั้ง 66 อย่างไม่เป็นทางการ 
คาดการณ์ ส.ส. แบ่งเขต
1.    พรรคก้าวไกล 113 ที่นั่ง
2.    พรรคเพื่อไทย 112 ที่นั่ง
3.    พรรคภูมิใจไทย 67 ที่นั่ง
4.    พรรคพลังประชารัฐ 39 ที่นั่ง
5.    พรรครวมไทยสร้างชาติ 23 ที่นั่ง
6.    พรรคประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง
7.    พรรคชาติไทยพัฒนา 9 ที่นั่ง
8.    พรรคประชาชาติ 7 ที่นั่ง
9.    พรรคไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง
10.    พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง
11.    พรรคชาติพัฒนากล้า 1 ที่นั่ง
แบบบัญชีรายชื่อ โดยประธาน กกต. กล่าวว่า ได้ไปทั้งหมด 17 พรรคการเมือง
1. พรรคก้าวไกล 14,136,838 คะแนน ได้เก้าอี้ 39 ที่นั่ง
2. พรรคเพื่อไทย 10,795,470 คะแนน ได้เก้าอี้ 29 ที่นั่ง
3. พรรครวมไทยสร้างชาติ 4,671,202 คะแนน ได้เก้าอี้ 13 ที่นั่ง
4. พรรคภูมิใจไทย 1,120,406 คะแนน ได้เก้าอี้ 3 ที่นั่ง
5. พรรคประชาธิปัตย์ 905,546 คะแนน ได้เก้าอี้ 2 ที่นั่ง
6. พรรคประชาชาติ 571,138 คะแนน ได้เก้าอี้ 2 ที่นั่ง
7. พรรคพลังประชารัฐ 528,387 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
8. พรรคเสรีรวมไทย 344,979 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
9. พรรคไทยสร้างไทย 339,960 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
10. พรรคประชาธิปไตยใหม่ 269,279 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
11. พรรคใหม่ 245,161 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
12. พรรคชาติพัฒนากล้า 207,743 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
13. พรรคท้องที่ไทย 198,068 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
14. พรรคชาติไทยพัฒนา 184,323 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
15. พรรคเป็นธรรม 181,517 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
16. พรรคพลังสังคมใหม่ 176,256 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
17. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 170,101 คะแนน ได้เก้าอี้ 1 ที่นั่ง
เปิดไทม์ไลน์จัดตั้งรัฐบาลใหม่
    ภายหลังกกต. ตรวจสอบผลการเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด จะประกาศผลการเลือกตั้ง โดยคาดการณ์ว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 
1.    ภายใน 13 ก.ค. 66 กกต. ต้องรับรองผลเลือกตั้ง ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง : โดยได้ตรวจสอบแล้วว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 95% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด จึงจะต้องประกาศผลเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อรับรอบผลการเลือกตั้ง และรับรองการเป็น ส.ส.
2.    ภายใน 27 ก.ค. 66 เรียกประชุมรัฐสภาเลือกประธานสภาฯ : กฎหมายกำหนดว่า หลังรับรองผลการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ต้องเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้ประชุมเป็นครั้งแรก และเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรภายใน 15 วัน 
3.    ช่วงเดือนสิงหาคม เป็นต้นไปประธานสภานัดประชุมรัฐสภาเลือกนายกฯ : ส.ส. 500 คน และ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน จะมาโหวตเลือกนายกฯ กติการะบุว่า ต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง หรือก็คือไม่น้อยกว่า 376 เสียง โดยเป็นการลงคะแนนเสียงแบบเปิดเผยตามลำดับตัวอักษรของรายชื่อสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคล จึงจะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ก่อนจะโปรดเกล้าฯ ต่อไป 
4.    ช่วงกลางเดือนสิงหาคมนายกฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี : ตั้งฝ่ายบริหารชุดใหม่ ก่อนนำชื่อคณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ และพา ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับตำแหน่ง 
อย่างไรก็ตามระหว่างรอรัฐบาลชุดใหม่ รัฐบาลเดิมจะดำรงตำแหน่งรักษาการชั่วคราวก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกฯ และตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไว้ ซึ่งระหว่างนั้นรัฐบาลชุดเดิมจะรักษาการจนกว่าจะได้ ครม. ใหม่
สูตรการจัดตั้งรัฐบาล
หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สรุปว่าพรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส. เป็นอันดับ 1 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ได้แถลงถึงชัยชนะในการเลือกตั้งที่แสดงเป็นที่ประจักษ์ว่าประชาชนคนไทยกาให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งโดยพร้อมจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป น้อมรับฉันทามติจากประชาชน พลิกขั้วเปลี่ยนข้างจากฝ่ายค้านเดิมมาจัดตั้งรัฐบาล ล่าสุดได้มีการหารือเพื่อร่างข้อตกลงโดยการนำเสนอการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งหมด 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม รวมเป็น 310 เสียง คิดว่าเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก โดยจะรีบเร่งตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีสุญญากาศทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่ยังรอเวลาอยู่ อย่างไรก็ตามวันนี้เวลา 10.00 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลง MOU จัดตั้งรัฐบาล

     วิษณุย้ำ ไม่เกิดสุญญากาศทางการเมืองระหว่างจัดตั้งรัฐบาล
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศว่าเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงรวมอันดับ 1 หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกล ที่จะรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลตามขั้นตอน 
     ส่วนจะเกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่ หากตั้งรัฐบาลไม่ได้ภายใน 3 เดือน นายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่มีคำว่าสุญญากาศ แม้จะช้านิดหน่อยแต่ไม่เรียกว่าสุญญากาศ อย่างน้อยช่วง 2 เดือนนี้ทางกกต. ต้องประกาศรับรอง จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงเวลาการเปิดสมัยการประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภา และเป็นขั้นตอนของประธานสภาที่จะกำหนดในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเนื่องจากปัจจุบันยังมีรัฐบาลรักษาการอยู่ ดังนั้นจะไม่เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar