ครม.ผ่อนผัน - ขยายเวลาทำงาน “แรงงานต่างด้าว”

ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2 กลุ่ม คือ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ตาม MOU และแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการผ่อนผันรวมกว่า 5 แสนคน ที่ประสบปัญหามีสถานะผิดกฎหมายจากข้อจำกัดด้านการเดินทาง โดยแนวทางการจัดการดังกล่าวจะช่วยให้แรงงานสามารถจัดเตรียมเอกสารให้ถูกต้องตามขั้นตอนได้ครบถ้วนต่อไป และเป็นการช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังต้องการแรงงานเพื่อดำเนินกิจการในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อรักษาความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแนวทางดังนี้

กลุ่มแรก : การทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา)

เป้าหมาย : ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 - 31 ก.ค. 66) สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 ก.ค. 66

ข้อจำกัด : แรงงานตาม MOU จะได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 2 ปี และต่ออายุได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี รวมเข้ามาทำงานได้ไม่เกิน 4 ปี เมื่อครบกำหนดหากต้องการทำงานต่อต้องเว้นวรรค 30 วัน แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางทำให้กลุ่มดังกล่าวอาจไม่สามารถทำตามกฎหมาย และกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

แนวทางการดำเนินการ : ผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราว โดยใช้หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน หรือเอกสารตามที่กรมการจัดหางานกำหนดเป็นหลักฐานแสดง การผ่อนผัน

หมายเหตุ : ระหว่างช่วงการผ่อนผัน ทั้งนายจ้างรายเดิมและรายใหม่ ที่ต้องการจะจ้างคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมาย ให้ทำการขออนุญาตนำคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายซึ่งได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย โดยคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถเดินทางกลับประเทศได้ หรือเมื่อครบกำหนดการผ่อนผันแล้วให้คนต่างด้าวโดยไม่มีความผิด

กลุ่มที่สอง : การทำงานของของคนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

เป้าหมาย : คนต่างด้าว 4 สัญชาติข้างต้น ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือไม่สามารถประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ทันภายในวันที่ 15 พ.ค. 66 (ตามที่ได้ขยายเวลาทำหนังสือเดินทางและตรวจลงตราตามมติ ครม. 15 ก.ค.65 และ มติ ครม. 7 ก.พ.66)

แนวทางการดำเนินการ : ผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายที่ไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ทัน ภายในวันที่ 15 พ.ค. 66 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 31 ก.ค. 66 เพื่อจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง โดยอนุญาตให้อยู่และทำงานได้ถึงวันที่ 13 ก.พ. 67 หรือ 13 ก.พ. 68 แล้วแต่กรณี

สำหรับมาตรการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าว ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีของรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ภาคการผลิตและธุรกิจบริการซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ใช้แรงงาน ต่างด้าวในการขับเคลื่อนต้องรับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากทำให้ดำเนินธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ถือเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงเป้าหมาย โดยแรงงานต่างด้าวนับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการของผู้ประกอบการจำนวนมาก ปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะกระทบต่อผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าว และเศรษฐกิจของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar