ด้วยแรงศรัทธาขบวนแห่จุมพระคู่บ้านคู่เมือง และขบวนป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองนครลำปาง ในงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง” ประจำปี 2567

บรรยากาศการจัดขบวนแห่จุมพระคู่บ้านคู่เมือง และขบวนแห่ปีใหม่เมืองนครลำปาง ขบวนรถม้าบุปผาชาติ ในงานประเพณี “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง” ประจำปี 2567 เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา มี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนฯ ณ บ้านกิจเสรี บริเวณวงเวียนน้ำพุสถานีรถไฟนครลำปาง โดยมี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนและนักท่องเที่ยว เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก
การจัดรูปแบบขบวน เน้นอัตลักษณ์ความเป็นเมืองลำปาง สอดคล้องกับการที่ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยเริ่มจากป้ายองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ต่อด้วยกังสดาล (เม้งหม่าง) ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในงานมงคลแสดงถึงความกึกก้องเกรียงไกรและการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์
ขบวนแรก มีชื่อว่า “ ป้ายขบวนศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง” ซึ่งประกอบไปด้วยการแสดงฟ้อนเล็บจำนวน ๘๓ คน พร้อมพาหนะขบวนรถตกแต่งแบบล้านนา มีวงดนตรีต๊กเส้งลำปาง ประกอบการตีกลองปู่จา ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปางซึ่งถือว่าเป็นการเบิกฤกษ์เบิกชัย
ขบวนที่สองมีชื่อว่า “ ขบวนสักการะพระเจ้าสระเกล้าดำหัว” ประกอบไปด้วย
คนถือช่อช้าง ตามคติล้านนาช่อช้างคือธงที่แสดงถึงความปิติยินดีและชัยชนะในการทำพิธีต่าง ๆ
ตามด้วยขันเชิญข้าวตอกดอกไม้ ซึ่งตามคติล้านนา การนำขันข้าวตอกดอกไม้ไปสักการะพระพุทธรูปถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติในเทศกาลสงกรานต์
เสลี่ยงเครื่องสักการะ สุ่มหมาก สุ่มพลู หมากเบ็ง ต้นเทียน ต้นผึ้ง ซึ่งถือว่าเป็นของสักการะสูงสุดที่ใช้ถวายในงานพุทธบูชา
ขบวนหม้อสังขาร ตามประเพณีล้านนา คนล้านนามักจะจัดหม้อสังขารซึ่งเป็นแจกันดินเผาลักษณะทรงกระบอกตอนกลางเป็นทรงกลม ประดับตกแต่งไปด้วยตุงไส้หมูตุงช่อขนาดเล็กและดอกไม้ประดับตกแต่งสวยงามเพื่อต้อนรับสังขารใหม่ หรือปีใหม่เมืองที่กำลังจะมาถึง
และขบวนตุง 12 ราศี  และรถแห่พระเจ้า ภายในรถมีการจำลอง การสระเกล้าดำหัว ซึ่งเป็นประเพณีของชาวล้านนา และยังมีศิลปินช่างซอสร้างสีสันอยู่ในรถขบวน โดยพระพุทธรูปที่ประดิษฐานบนรถล้อลาก เป็นพระพุทธรูปจำลองพระพุทธรูปปางสิงห์สอง ซึ่งเป็นศิลปะแบบเชียงแสนถือว่าเป็นพุทธศิลป์ที่แพร่หลายมากที่สุดในจังหวัดลำปางอีกด้วย
ขบวนที่สาม“ รื่นเริงมหาสงกรานต์เบิกบานวิถีไทย” ประกอบด้วย พานถือดอกไม้ประจำวันทั้งเจ็ด ซึ่งแสดงถึงวันที่สังขารจะล่องไปภายในปีนี้ตามคติชาวล้านนา รำกลองยาว และนักดนตรีกลองยาว เสริมทัพด้วยเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางที่ได้ มีส่วนร่วมภายในขบวน เพื่อเป็นการรักษาและสืบยอดเทศกาลสงกรานต์ ปี๋ใหม่เมืองอีกด้วย
ขบวนรถนักษัตรและขุนสังขาร โดยบนรถประดับตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ที่เกี่ยวข้องกับวันสังขารล่อง โดยในปีนี้ขุนสังขารตามคติล้านนานั่งเสือเป็นพาหนะ และยังตกแต่งด้วยนกยูงซึ่งเป็นพาหนะของนางสงกรานต์และสัตว์ประจำปีมะโรงคือ”งูใหญ่“และยังมีพญานาคที่ประกบข้างขบวนรถแสดงถึงป่าหิมพานต์และสรวงสวรรค์อันร่มเย็น


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar