คลังจังหวัดลำปาง เผยภาพรวมภาวะเศรษฐกิจจังหวัดลำปาง โดยรวมขยายตัวร้อยละ 3.4 

นางสุภาภรณ์ จุลละสุภา คลังจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจจังหวัดลำปางในเดือนมีนาคม 2567 โดยรวมขยายตัว ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบจากช่วงเดือนเดียวกันกับปีก่อน ขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว ร้อยละ 3.5 สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจ ด้านการผลิต ที่มีการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการ ด้านการใช้จ่าย ขยายตัวตามการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อลดลง ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล ในขณะที่ด้านการจ้างงาน ขยายตัวจากความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบจากช่วงเดือนเดียวกันกับปีก่อน ปรับลดลงตามราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสุกร และผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก รวมทั้งราคาพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ด้านการจ้างงาน ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบจากช่วงเดือนเดียวกันกับปีก่อน โดยภาพรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ
ประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดลำปาง ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 ผลจากแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้านการผลิตและการใช้จ่าย ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ในปีก่อน โดยปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2567 ของจังหวัดลำปาง ได้แก่ 1.ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ช่วยให้ภาคบริการขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.สถานการณ์เงินเฟ้อที่ลดลง ส่งผลบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ และ 3.มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ นโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ทั้งมาตรการลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารรถไฟฟ้า และสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการด้านการเงิน มาตรการลดหย่อนภาษี มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น โครงการเที่ยวเมืองรอง 
สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2567 ของจังหวัดลำปาง ได้แก่ 1.ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร 2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 3.ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นและกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และ 4.ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน

 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar